วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

คดีเขาพระวิหาร

คดีเขาพระวิหาร
คดีเขาพระวิหาร ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา (ต่อไปขอใช้คำว่า ไทย กับคำว่า กัมพูชา) ข้อเท็จจริงของคดีมีโดยย่อว่า เทือกเขาพนมดงรักเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ไทยได้ทำสัญญากับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัฐอารักขาของกัมพูชา(กล่าวคือกัมพูชาอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นนั่นเอง) เกี่ยวกับปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศว่าให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์แบ่งอาณาเขตพรมแดน ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ไทยได้ขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสก็ได้จัดทำแผนที่และส่งให้ไทย
ปราสาทพระวิหารเป็นโบราณสถานเก่าแก่ ตั้งอยู่บนยอดเขาพระวิหารซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรักซึ่งเป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา ทางขึ้นปราสาทอยู่ในอาณาเขตของไทย (วงอินโดจีนเคยแต่งเพลงๆ หนึ่งชื่อเพลงเขาพระวิหาร ขึ้นต้นว่า เขาพระวิหารทางขึ้นต้องผ่านด่านเมืองศรีษะเกษ) ปราสาทถูกทิ้งร้างไว้ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ไทยได้ส่งคนเข้าครอบครองปราสาท ต่อมาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) กัมพูชาได้ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสและได้อ้างว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตของประเทศตน จึงเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจาตกลงระงับข้อพิพาท แต่ล้มเหลว ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) กัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ขอให้ศาลพิพากษาว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาโดยอ้างเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของตนคือ
(๑) อาศัยสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับไทย อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนบนภูเขาพนมดงรักส่วนที่เป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
(๒) กัมพูชาไม่เคยสละอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหานี้ และอาศัยสิทธิตามสนธิสัญญา กัมพูชาได้ใช้อำนาจอธิปไตยอันมีประสิทธิภาพเหนือดินแดนนี้ตลอดมา
(๓) ไทยไม่ได้กระทำการใดๆ ในทางใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าวโดยลักษณะที่จะทำให้กัมพูชาเสียอำนาจอธิปไตยอันได้มาโดยสนธิสัญญาและด้วยการใช้อำนาจอธิปไตยอันมีประสิทธิภาพ
(๔) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) รัฐบาลไทยได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ ไทยสมัยสร้างชาติ มีข้อความว่า ไทยได้ปราสาทพระวิหารด้วยผลของการปรับปรุงเขตแดนตามสนธิสัญญาโตเกียว พ.ศ. ๒๔๘๔ ดังนั้น เมื่อสนธิสัญญาโตเกียวล้มเลิกไป ปราสาทพระวิหารก็ต้องกลับไปเป็นของกัมพูชา
(๕) กัมพูชาอ้างแผนที่ประกอบคดีว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดน (คณะกรรมการผสมระหว่างไทย-ฝรั่งเศส) (นายนิติกรเข้าใจว่าที่อ้างแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นผู้ร่วมจัดทำแผนที่ จึงต้องยอมรับแผนที่ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมานี้ด้วย)

ส่วนไทยต่อสู้คดีโดยมีข้อเถียง สรุปได้ดังนี้
(๑) ข้อกำหนดในสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ปักปันอาณาเขตเขาพระวิหารไว้ในเขตแดน(น่าจะเป็นเขตแดนของไทย แต่ในหนังสือที่สืบค้นนี้ไม่ได้กล่าวถึง) แผนที่ที่กัมพูชาอ้างเป็นแผนที่ที่ไม่ถูกต้องตามสนธิสัญญา เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยพลการ ไม่ได้จัดทำโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดน
(๒) กัมพูชาไม่ได้เป็นผู้ใช้สิทธิที่อ้างเลย หากแต่เป็นไทยที่ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนี้เสมอมา
(๓) ไทยได้แสดงแผนที่ (น่าจะเป็นอีกฉบับ) เพื่อแสดงที่ตั้งอันแท้จริงของสันปันน้ำ และข้อผิดพลาดในแผนที่ของกัมพูชาที่อ้างในคดีว่าเป็นแผนที่ที่เลื่อนลอยไม่มีผลผูกพัน

ศาลโลกได้พิจารณาข้ออ้างข้อเถียงของทั้งกัมพูชาและไทยแล้ว วินิจฉัยในประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ตั้งของปราสาทพระวิหารโดยพิจารณาเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตรงบริเวณที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยอ้างว่าตามหลักฐานเอกสารแสดงว่าต้องกำหนดเขตแดนตามธรรมชาติที่เห็นได้ชัดเจนและไม่ผิดพลาด เช่น แม่น้ำ ภูเขา สันเขา ชะง่อนผา แต่ศาลเห็นว่า ไทยได้ตกลงกับฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ว่าทั้งสองประเทศได้ตกลงเส้นเขตแดนโดยยึดถือเส้นทางชัดเจน เช่น สันปันน้ำ ดังนั้นจะยึดถือเอาชะง่อนผาเป็นเส้นเขตแดนเสมอไปไม่ได้
ศาลยังได้พิจารณาแผนที่ (น่าจะเป็นที่กัมพูชายกขึ้นอ้าง) ว่ายังไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการปักปันเขตแดนจึงไม่มีผลผูกพันในขณะที่ทำขึ้น แต่เนื่องจากต่อมาไทยมิได้คัดค้านภายในเวลาอันควร จึงถือว่าเห็นชอบด้วย คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้แสดงทีท่าคัดค้านว่าแผนที่นั้นไม่ถูกต้อง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังต้องขอบใจราชทูตฝรั่งเศสเมื่อได้รับแผนที่นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ประท้วง ต่อมาเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการปักปันเขตแดนที่กรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๙ (พ.ศ. ๒๔๕๒) เพื่อทำแผนที่ใหญ่โดยใช้แผนที่ดังกล่าวเป็นหลักก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน แผนที่ที่กรมแผนที่ของไทยที่ทำขึ้นเองเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ. ๒๔๘๐) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชา ในการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๗ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ไทยก็มิได้ประท้วงในเรื่องนี้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปปราสาทพระวิหารเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสไปทำการต้อนรับในเขตปราสาทพระวิหาร ไทยก็มิได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด แสดงว่าไทยยอมรับว่าฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารเป็นเวลานานถึง ๕๐ ปีมาแล้ว (น่าจะนับถึงวันที่ศาลตัดสิน) ศาลจึงพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ด้วยคะแนน ๙ ต่อ ๓ ให้ประเทศกัมพูชาชนะคดีประเทศไทย (และมีมติ ๗ ต่อ ๕ ให้ฝ่ายไทยคืนวัตถุโบราณที่มีการเคลื่อนย้ายด้วย)
หลักกฎหมายที่ศาลโลกใช้ในคดีนี้ เขาเรียกว่า หลักกฎหมายปิดปาก (Esstoppel) การนิ่งของฝ่ายไทย ทำให้ศาลโลกมองว่ายอมรับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ดี นายนิติกรคงไม่อาจแสดงทัศนะต่อกรณีที่ประเทศกัมพูชาจะขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ คงทำได้แต่เพียงเสนอข้อเท็จจริงบางสิ่งบางประการสู่สายตาท่านผู้อ่านเพื่อให้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับภูมิหลังของกรณีพิพาทดังที่ได้เสนอไปแล้วเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น