วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

คดีเขาพระวิหาร

คดีเขาพระวิหาร
คดีเขาพระวิหาร ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา (ต่อไปขอใช้คำว่า ไทย กับคำว่า กัมพูชา) ข้อเท็จจริงของคดีมีโดยย่อว่า เทือกเขาพนมดงรักเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ไทยได้ทำสัญญากับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัฐอารักขาของกัมพูชา(กล่าวคือกัมพูชาอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นนั่นเอง) เกี่ยวกับปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศว่าให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์แบ่งอาณาเขตพรมแดน ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ไทยได้ขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสก็ได้จัดทำแผนที่และส่งให้ไทย
ปราสาทพระวิหารเป็นโบราณสถานเก่าแก่ ตั้งอยู่บนยอดเขาพระวิหารซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรักซึ่งเป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา ทางขึ้นปราสาทอยู่ในอาณาเขตของไทย (วงอินโดจีนเคยแต่งเพลงๆ หนึ่งชื่อเพลงเขาพระวิหาร ขึ้นต้นว่า เขาพระวิหารทางขึ้นต้องผ่านด่านเมืองศรีษะเกษ) ปราสาทถูกทิ้งร้างไว้ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ไทยได้ส่งคนเข้าครอบครองปราสาท ต่อมาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) กัมพูชาได้ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสและได้อ้างว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตของประเทศตน จึงเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจาตกลงระงับข้อพิพาท แต่ล้มเหลว ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) กัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ขอให้ศาลพิพากษาว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาโดยอ้างเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของตนคือ
(๑) อาศัยสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับไทย อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนบนภูเขาพนมดงรักส่วนที่เป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
(๒) กัมพูชาไม่เคยสละอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหานี้ และอาศัยสิทธิตามสนธิสัญญา กัมพูชาได้ใช้อำนาจอธิปไตยอันมีประสิทธิภาพเหนือดินแดนนี้ตลอดมา
(๓) ไทยไม่ได้กระทำการใดๆ ในทางใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าวโดยลักษณะที่จะทำให้กัมพูชาเสียอำนาจอธิปไตยอันได้มาโดยสนธิสัญญาและด้วยการใช้อำนาจอธิปไตยอันมีประสิทธิภาพ
(๔) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) รัฐบาลไทยได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ ไทยสมัยสร้างชาติ มีข้อความว่า ไทยได้ปราสาทพระวิหารด้วยผลของการปรับปรุงเขตแดนตามสนธิสัญญาโตเกียว พ.ศ. ๒๔๘๔ ดังนั้น เมื่อสนธิสัญญาโตเกียวล้มเลิกไป ปราสาทพระวิหารก็ต้องกลับไปเป็นของกัมพูชา
(๕) กัมพูชาอ้างแผนที่ประกอบคดีว่าเป็นแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดน (คณะกรรมการผสมระหว่างไทย-ฝรั่งเศส) (นายนิติกรเข้าใจว่าที่อ้างแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นผู้ร่วมจัดทำแผนที่ จึงต้องยอมรับแผนที่ที่ร่วมกันสร้างขึ้นมานี้ด้วย)

ส่วนไทยต่อสู้คดีโดยมีข้อเถียง สรุปได้ดังนี้
(๑) ข้อกำหนดในสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้ปักปันอาณาเขตเขาพระวิหารไว้ในเขตแดน(น่าจะเป็นเขตแดนของไทย แต่ในหนังสือที่สืบค้นนี้ไม่ได้กล่าวถึง) แผนที่ที่กัมพูชาอ้างเป็นแผนที่ที่ไม่ถูกต้องตามสนธิสัญญา เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยพลการ ไม่ได้จัดทำโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดน
(๒) กัมพูชาไม่ได้เป็นผู้ใช้สิทธิที่อ้างเลย หากแต่เป็นไทยที่ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนี้เสมอมา
(๓) ไทยได้แสดงแผนที่ (น่าจะเป็นอีกฉบับ) เพื่อแสดงที่ตั้งอันแท้จริงของสันปันน้ำ และข้อผิดพลาดในแผนที่ของกัมพูชาที่อ้างในคดีว่าเป็นแผนที่ที่เลื่อนลอยไม่มีผลผูกพัน

ศาลโลกได้พิจารณาข้ออ้างข้อเถียงของทั้งกัมพูชาและไทยแล้ว วินิจฉัยในประเด็นอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ตั้งของปราสาทพระวิหารโดยพิจารณาเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตรงบริเวณที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยอ้างว่าตามหลักฐานเอกสารแสดงว่าต้องกำหนดเขตแดนตามธรรมชาติที่เห็นได้ชัดเจนและไม่ผิดพลาด เช่น แม่น้ำ ภูเขา สันเขา ชะง่อนผา แต่ศาลเห็นว่า ไทยได้ตกลงกับฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ว่าทั้งสองประเทศได้ตกลงเส้นเขตแดนโดยยึดถือเส้นทางชัดเจน เช่น สันปันน้ำ ดังนั้นจะยึดถือเอาชะง่อนผาเป็นเส้นเขตแดนเสมอไปไม่ได้
ศาลยังได้พิจารณาแผนที่ (น่าจะเป็นที่กัมพูชายกขึ้นอ้าง) ว่ายังไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการปักปันเขตแดนจึงไม่มีผลผูกพันในขณะที่ทำขึ้น แต่เนื่องจากต่อมาไทยมิได้คัดค้านภายในเวลาอันควร จึงถือว่าเห็นชอบด้วย คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้แสดงทีท่าคัดค้านว่าแผนที่นั้นไม่ถูกต้อง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยังต้องขอบใจราชทูตฝรั่งเศสเมื่อได้รับแผนที่นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ประท้วง ต่อมาเมื่อมีการประชุมคณะกรรมการปักปันเขตแดนที่กรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๙ (พ.ศ. ๒๔๕๒) เพื่อทำแผนที่ใหญ่โดยใช้แผนที่ดังกล่าวเป็นหลักก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน แผนที่ที่กรมแผนที่ของไทยที่ทำขึ้นเองเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ. ๒๔๘๐) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชา ในการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๗ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ไทยก็มิได้ประท้วงในเรื่องนี้ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปปราสาทพระวิหารเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสไปทำการต้อนรับในเขตปราสาทพระวิหาร ไทยก็มิได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด แสดงว่าไทยยอมรับว่าฝรั่งเศสมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารเป็นเวลานานถึง ๕๐ ปีมาแล้ว (น่าจะนับถึงวันที่ศาลตัดสิน) ศาลจึงพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ด้วยคะแนน ๙ ต่อ ๓ ให้ประเทศกัมพูชาชนะคดีประเทศไทย (และมีมติ ๗ ต่อ ๕ ให้ฝ่ายไทยคืนวัตถุโบราณที่มีการเคลื่อนย้ายด้วย)
หลักกฎหมายที่ศาลโลกใช้ในคดีนี้ เขาเรียกว่า หลักกฎหมายปิดปาก (Esstoppel) การนิ่งของฝ่ายไทย ทำให้ศาลโลกมองว่ายอมรับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ดี นายนิติกรคงไม่อาจแสดงทัศนะต่อกรณีที่ประเทศกัมพูชาจะขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ คงทำได้แต่เพียงเสนอข้อเท็จจริงบางสิ่งบางประการสู่สายตาท่านผู้อ่านเพื่อให้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับภูมิหลังของกรณีพิพาทดังที่ได้เสนอไปแล้วเท่านั้น

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ความหมายของคำในกฎหมาย


ความหมายของคำในกฎหมาย
๑. คำว่า ประมาท ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ วรรคสี่ บัญญัติว่า กระทำโดยประมาท ได้แก่ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ สรุปสั้นๆ ได้ว่า ประมาทคือการกระทำ (รวมถึงการงดเว้นการกระทำ) ที่ไม่ใช้ความระมัดระวัง ทั้งๆ ที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้
สำหรับคำว่า ภาวะ หมายถึง เหตุการณ์หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ขับรถ ภาวะที่เกิดขึ้นคือการขับรถ การเติมน้ำมัน ภาวะที่เกิดขึ้นคือการเติมน้ำมัน เป็นต้น
คำว่า วิสัย หมายถึง สภาพภายในของตัวผู้กระทำ เช่น เมาค้าง ไม่สบาย สำหรับบุคคลธรรมดาตามวิสัยย่อมใช้ความระมัดระวังน้อยกว่าผู้มีวิชาชีพ เช่น นักศึกษาแพทย์ย่อมระมัดระวังน้อยกว่านายแพทย์ ผู้ฝึกหัดขับรถย่อมระมัดระวังน้อยกว่าครูสอนขับรถ เป็นต้น ส่วนคำว่า พฤติการณ์ หมายถึงเหตุการณ์ภายนอกตัวผู้กระทำที่ต้องนำมาประกอบกับภาวะ เช่น ฝนกำลังตก หมอกลงจัด การจราจรคับคั่ง เป็นต้น
ดังนั้น บุคคลใดจะประมาทหรือไม่ มีหลักในการพิจารณาคือการสมมติคนอีกคนหนึ่งมาเปรียบเทียบโดยมีทุกอย่างเหมือนกับผู้ที่นำมาเปรียบเทียบ แล้วพิจารณาว่าหากคนที่สมมติอยู่ในภาวะเช่นนั้น มีวิสัยเช่นเดียวกันและอยู่ในพฤติการณ์อย่างเดียวกับผู้กระทำ เขาจะสามารถใช้ความระมัดระวังได้หรือไม่ หากใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ใช้ การกระทำนั้นย่อมเป็นประมาท

๒. คำว่า อันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ วรรคสอง บัญญัติว่า
อันตรายสาหัสคือ

(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถในการสืบพันธุ์
(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
(๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(๕) แท้งลูก
(๖) จิตพิการอย่างติดตัว
(๗)ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(๘) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน
คำว่า ตาบอด นั้น ต้องตาบอดจริงๆ ไม่ใช่แค่พร่ามัว แม้จะบอดข้างเดียวก็เป็นสาหัส หูหนวกก็เช่นกัน ส่วนลิ้นขาดนั้นเห็นว่าต้องพิจารณาตามความรู้สึกของคนทั่วไป การที่ลิ้นฉีกไม่น่าจะอยู่ในความหมายของคำว่าลิ้นขาด และคำว่าเสียฆานประสาทหมายถึงเสียความสามารถในการดมกลิ่น
เสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ เช่น ถูกทำร้ายจนเป็นหมัน หรืออวัยวะสืบพันธุ์ขาดหายไป เป็นต้น
เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด มิใช่เฉพาะเสียไป หากแต่รวมถึงอวัยวะดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ด้วย และแม้จะเป็นแค่นิ้วก้อยก็เป็นอันตรายสาหัสแล้ว ส่วนคำว่าอวัยวะอื่นใดนั้นหมายถึงอวัยวะส่วนสำคัญเช่นเดียวกับ แขน ขา มือ เท้า นิ้ว ด้วย
หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว หมายถึง ทำให้หน้าเสียความงามแต่ไม่ต้องถึงกับทำให้หน้าเปลี่ยนรูปหรือผิดรูป แม้แต่ใบหูขาดมองเห็นชัดเจนก็ถือเป็นอันตรายสาหัสได้ แต่ถ้าถูกโกนผมไปไม่เป็นอันตรายสาหัส เพราะผมงอกขึ้นใหม่ได้
แท้งลูก คือ ทำให้เด็กที่อยู่ในท้องคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต หรือที่เรียกว่าตายในครรภ์มารดานั่นเอง
จิตพิการอย่างติดตัว หมายถึง จิตใจได้รับอันตรายจนอยู่ในสภาพไม่ปกติ ป้ำๆ เป๋อๆ เด๋อๆ ด๋าๆ โดยมีลักษณะติดตัว
ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต คำว่า ทุพพลภาพคือการขาดความสามารถในการประกอบการงานไปจากปกติ ส่วนคำว่าเรื้อรังคือไม่อาจรักษาให้ฟื้นคืนดีได้
ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน หมายถึงต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือมีอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรืออีกอย่างหนึ่งคือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน

๓. อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีคำอธิบายไว้ แต่เมื่อศึกษาแนวทางที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้ พอสรุปได้ดังนี้
ถ้าแผลถลอกไม่ถึงขนาดเนื้อแท้ฉีกขาด ไม่เป็นอันตรายแก่กาย แต่ถ้าแผลมีโลหิตไหลถึงหนังชั้นในหรือเนื้อขาดที่เรียกว่าแตก เป็นอันตรายแก่กาย หรือฟันหัก ๑ ซี่ ฟันโยก ๓ ซี่ เป็นอันตรายแก่กาย แต่ถ้าฟันหักหมดปากหรือฟันหักจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้อาจเป็นอันตรายสาหัส ส่วนแผลฟกช้ำดำเขียวต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ส่วนอันตรายแก่จิตใจนั้น ไม่ใช่เป็นการกระทบต่ออารมณ์ เช่นทำให้เสียใจ หงุดหงิด อันตรายแก่จิตใจตามแนวคำพิพากษา เช่น สติฟั่นเฟือน จิตหวาดผวา วิงเวียนคลื่นไส้เพราะถูกเอาใบไม้มีพิษมาให้รับประทาน ถูกทำผีหลอกสลบไปหลายวัน หรือใช้ยากดประสาทอย่างแรงผสมในกาแฟ เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ในกฎหมายแล้ว นายนิติกรจะขอยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงแนวทางการวินิจฉัยของศาลสัก ๑ ตัวอย่าง


คำพิพากษาศาลฎีกา
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นายมะเดี่ยวได้พาแฟนสาวนั่งรถที่เพิ่งถอยออกมาใหม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด ขณะที่นายมะเดี่ยวขับรถโฉบเฉี่ยวด้วยความเร็วสูงมานั้น ปรากฏว่ารถบรรทุกห้องเย็นซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้ารถที่นายมะเดี่ยวขับมาได้ถูกรถของนายมะขาม (ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าเช่นกัน) ชนท้ายอย่างแรง นายมะเดี่ยวจึงได้เบรกรถอย่างกะทันหันแต่ไม่วาย รถของนายมะเดี่ยวก็ยังไปชนท้ายรถนายมะขามจนได้ เป็นเหตุให้แฟนสาวของนายมะเดี่ยวบาดเจ็บ ส่วนรถของนายมะขามมีคนตาย ๒ ศพ คดีอาญาอย่างนี้ยอมความไม่ได้ เรื่องจึงมาถึงศาล ศาลฎีกาท่านพิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ววินิจฉัยว่า
เมื่อเปรียบเทียบร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ทั้งสามคัน แสดงให้เห็นว่ารถของนายมะขามชนท้ายรถบรรทุกห้องเย็นอย่างแรงแล้วจึงถูกรถของนายมะเดี่ยวชนท้ายแต่ไม่รุนแรงนัก ดังนั้น ความตายที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในรถนายมะขามมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของนายมะเดี่ยว นายมะเดี่ยวจึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย คงมีแต่ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้แฟนสาวที่นั่งมาด้วยได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๘/๒๕๓๘) คำพิพากษานี้เป็นการยืนยันหลักที่ว่าบุคคลไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าผลอันเกิดจากการกระทำของตน

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความหมาย


“หาตั๋วรถ ป.1 ที่นั่งปกติไม่ได้เลยเพื่อน จะมีก็แค่ที่นั่งเสริม จะเอาไหมล่ะ” นายนิติกรพูดผ่านโทรศัพท์บอกเพื่อนที่ขอให้มาจองตั๋วรถเพื่อเดินทางกลับไป กทม. หลังจากมาเที่ยวสงกรานต์ที่บ้านเกิดเมืองนอนเสียหลายวัน
“ตั๋วอะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้กลับไปทำงานทันในวันจันทร์นี้เถอะ” เพื่อนผู้พูดอยู่ปลายสายตะโกนผ่านมาทางโทรศัพท์
“ตกลง ถ้างั้นจะจองให้ แล้วรีบมาขึ้นรถ รถจะมาถึงเวลา 22.00 น.นี้” นายนิติกรโต้ตอบกลับไป

นี่เป็นเพียงบทสนทนาของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการโดยสารรถประจำทางกลับไปทำงานที่ กทม.เมืองฟ้าอมรของใครหลายๆ คน และคงมีใครอีกหลายคนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
พอกล่าวถึงเรื่องรถโดยสาร นายนิติกรมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอสู่สายตาผู้อ่านทุกท่าน เรื่องก็มีอยู่ว่า

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานนัก นายมึน (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษเป็นประจำ ฟ้องศาลปกครองชั้นต้นว่า ได้รับความเสียหายจากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ต่อไปจะเรียกว่า การรถไฟฯ) อนุญาตให้เอกชนติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณา (มีลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านได้) บริเวณกระจกหน้าต่างภายนอกตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟ ทำให้การมองผ่านกระจกหน้าต่างดังกล่าวไม่อาจเห็นทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟได้อย่างชัดเจน และยังทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวและคลื่นไส้ นายมึนได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อการรถไฟฯ เพื่อให้ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากหน้าต่างตู้รถโดยสารแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำคดีมาฟ้องศาล
คดีมาถึงศาลปกครองสูงสุด ศาลท่านพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว วินิจฉัยสรุปได้ว่า ตามกฎหมายการรถไฟ กำหนดให้การรถไฟฯ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และพัสดุภัณฑ์และของอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟซึ่งเป็นบริการสาธารณะ โดยในการจัดทำกิจการดังกล่าว นอกจากจะต้องจัดให้มีขบวนรถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่นๆ อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแล้ว การรถไฟฯ ยังต้องดูแลรักษาส่วนต่างๆ ของตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว เข่น ที่นั่ง ที่นอนของผู้โดยสาร รวมทั้งประตูหน้าต่างของตู้รถโดยสารให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีและสามารถอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร
ซึ่งในส่วนของหน้าต่างนั้น รถโดยสารทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารส่วนบุคคลหรือรถโดยสารสาธารณะ และไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศหรือรถโดยสารไม่ปรับอากาศ จะต้องมีหน้าต่าง โดยหน้าต่างรถโดยสารมิได้มีไว้เพียงเพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกรถเข้าไปภายในรถได้เท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่นอกรถเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระแวดระวังภยันตรายที่อาจจะมีจากภายนอกรถอีกด้วย รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรถโดยสาร แต่เป็นรถขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ และต้องถือว่าผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีหน้าต่างปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุ ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้โดยสาร
ดังนั้น การรถไฟฯ จึงมีหน้าที่จัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนมีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างตู้รถโดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง การที่การรถไฟฯ ทำสัญญาเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาภายนอกรถโดยสารโดยยินยอมให้ติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสารได้ด้วย จึงเป็นการใช้หน้าต่างรถโดยสารแสวงหารายได้จนทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่างได้ตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร
คำพิพากษาให้ การรถไฟฯ ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารรถไฟทุกคันให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา*** (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.231/2550)

กฎหมายอาญา


ปัจจุบันนี้ ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ในเมืองไทยนั้นเพิ่มขึ้นทุกๆวันไปพร้อมกับปัญหาสังคมอย่างอื่นด้วย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะล่วงละเมิดมิได้ รวมไปถึงความเท่าเทียมกันในสังคม ที่นับวันจะมีความหลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้มีการแก้ไขกฎหมาย อาญามาตรา 276 และ 277
มาตรา 276 ประมวลกฎหมายอาญา (ของเดิม) ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้...โดยให้แก้เป็น มาตรา 276 ประมวลกฎหมายอาญา (แก้ไขใหม่) ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้.. ให้แก้จาก “หญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของตน” เป็น “ผู้อื่น” ทำให้ ผู้ชายก็ถูกข่มขืนได้ ไม่ว่าจะเป็นชายข่มขืนชาย หรือ หญิงข่มขืนชาย ประเด็นต่อมาเรื่องโทษ “หากต้องรับโทษเท่ากันจะข่มขืนภริยาตัวเองทำไม คนเราเมื่อข่มขืนภริยาตัวเองไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้ เลยต้องไปข่มขืนผู้อื่นแทน เพราะยังไงโทษก็เท่ากัน และในส่วนโทษในการกระทำชำเราผู้ใหญ่ ตามมาตรา 276 กับกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้า
ตามมาตรา 277 อัตราโทษกับเท่ากันต่างกันตรงที่การกระทำชำเราเด็กยอมความไม่ได้เท่านั้น กฎหมายยัง ให้คำนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำต่อ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือใช้สิ่งใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีที่ผู้ชาย(เกย์)บังคับให้ผู้ชายกระทำต่อทวารหนัก (เกย์)เพื่อสนองความใคร่ของผู้บังคับ จะเป็นการกระทำชำเราหรือไม่นั้น ความเห็นของผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นการกระทำชำเราเนื่องจากในความหมายว่าการ กระทำชำเราไม่มีคำว่า “กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยใช้ “ทวารหนัก”ของผู้กระทำกระทำต่ออวัยวะเพศ ผู้อื่น” ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพียงการขมขืนใจให้กระทำ...ตามมาตรา 309 เท่านั้น ประเด็นต่อมา มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าซึ่งมิใช่สามีหรือภริยาของตนโดย เด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ข้อสงสัยคือในกรณีที่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีที่ไม่ได้เป็นภริยากันโดยทั้ง คู่ตกลงยินยอมกระทำชำเราซึ่งกันและกัน ก็ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 277 แล้ว เช่นนี้เด็กก็ต้องมีความผิดทั้งสองฝ่าย และยิ่งเป็นชายกระทำต่อชายหรือหญิงกระทำต่อหญิงก็ต้องมีความผิดและรับโทษ สถานเดียว เพราะศาลไม่อาจอนุญาตให้สมรสกับได้ที่มีคำว่าซึ่งมิใช่สามีหรือภรรยาของตน” ก็เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 277 วรรคท้าย
ในกรณีที่มีการกระทำชำเราและศาลจะอนุญาตให้สมรสกันแล้วไม่ต้องรับโทษนั้นตาม กฎหมายเดิมไม่จำกัดอายุชายผู้กระทำที่กระทำต่อเด็กหญิงอายุตั้งแต่สิบสามถึง สิบห้าโดยเด็กนั้นยินยอม แต่กฎหมายใหม่จำกัดอายุผู้กระทำไว้ว่าต้องไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กอายุ ตั้งแต่สิบสามถึงสิบห้า โดยเด็กนั้นยินยอม ที่สำคัญวรรคนี้มีไว้สำหรับชายกับหญิงเท่านั้นที่มีสิทธิ

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

นาฬิกา



นาฬิกายังเดินหมุนไปไม่หยุด ใจข้างในก็เลยหมุนตามด้วยความสุขทุกข์เวียนวน
วันเวลากับความสัมพันธ์ของคน หมุนไปไม่หยุดเลย

>>>1 นาทีอาจจะพอ พอให้เคยคุ้นกัน
>>>1 ชั่วโมงอาจทำให้คนชอบกัน
และ 1 วันอาจผูกพันธ์จนรักกัน

แต่ทั้งหมดชีวิตมันจะพอไหม? ที่จะใช้เพื่อลืม ไม่คิดถึงคนหนึ่งคน
ทั้งหมดชีวิต เวลาที่ยังเหลือจะพอไหม? ให้ใจได้ลบล้างความผูกพันธ์ >>>เพื่อลืมคนหนึ่งคน

นาฬิกายังเดินหมุนไปไม่เปลี่ยน ใจข้างในกลับเดินช้าลง ไม่ตรงไม่เท่าเวลา
นาฬิกากับการพลัดพรากจากลา หมุนไปไม่กลับคืน

หากนาฬิกาย้อนวันเวลากลับไป ถึงวันที่เราเจอกัน แล้วฉันจะทำอย่างไร
บอกใจตัวเองย้อนไปวินาทีนั้น ฉันก็จะทำอย่างเดิม ฉันจะรักเธออย่างเดิม !!!

blogger นาวสาวสุภาพร วันทะมาตร (ยุ้ย)


ได้ blogger แล้วค่ะ ทำจนวิน !!!!!!