วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความหมาย


“หาตั๋วรถ ป.1 ที่นั่งปกติไม่ได้เลยเพื่อน จะมีก็แค่ที่นั่งเสริม จะเอาไหมล่ะ” นายนิติกรพูดผ่านโทรศัพท์บอกเพื่อนที่ขอให้มาจองตั๋วรถเพื่อเดินทางกลับไป กทม. หลังจากมาเที่ยวสงกรานต์ที่บ้านเกิดเมืองนอนเสียหลายวัน
“ตั๋วอะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้กลับไปทำงานทันในวันจันทร์นี้เถอะ” เพื่อนผู้พูดอยู่ปลายสายตะโกนผ่านมาทางโทรศัพท์
“ตกลง ถ้างั้นจะจองให้ แล้วรีบมาขึ้นรถ รถจะมาถึงเวลา 22.00 น.นี้” นายนิติกรโต้ตอบกลับไป

นี่เป็นเพียงบทสนทนาของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการโดยสารรถประจำทางกลับไปทำงานที่ กทม.เมืองฟ้าอมรของใครหลายๆ คน และคงมีใครอีกหลายคนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้
พอกล่าวถึงเรื่องรถโดยสาร นายนิติกรมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอสู่สายตาผู้อ่านทุกท่าน เรื่องก็มีอยู่ว่า

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานนัก นายมึน (นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถไฟขบวนด่วนพิเศษเป็นประจำ ฟ้องศาลปกครองชั้นต้นว่า ได้รับความเสียหายจากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ต่อไปจะเรียกว่า การรถไฟฯ) อนุญาตให้เอกชนติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณา (มีลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อให้แสงผ่านได้) บริเวณกระจกหน้าต่างภายนอกตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟ ทำให้การมองผ่านกระจกหน้าต่างดังกล่าวไม่อาจเห็นทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟได้อย่างชัดเจน และยังทำให้เกิดอาการตาพร่ามัวและคลื่นไส้ นายมึนได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อการรถไฟฯ เพื่อให้ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวออกจากหน้าต่างตู้รถโดยสารแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำคดีมาฟ้องศาล
คดีมาถึงศาลปกครองสูงสุด ศาลท่านพิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว วินิจฉัยสรุปได้ว่า ตามกฎหมายการรถไฟ กำหนดให้การรถไฟฯ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร สินค้า และพัสดุภัณฑ์และของอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟซึ่งเป็นบริการสาธารณะ โดยในการจัดทำกิจการดังกล่าว นอกจากจะต้องจัดให้มีขบวนรถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์ และของอื่นๆ อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแล้ว การรถไฟฯ ยังต้องดูแลรักษาส่วนต่างๆ ของตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว เข่น ที่นั่ง ที่นอนของผู้โดยสาร รวมทั้งประตูหน้าต่างของตู้รถโดยสารให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีและสามารถอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารได้ตามสมควร
ซึ่งในส่วนของหน้าต่างนั้น รถโดยสารทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารส่วนบุคคลหรือรถโดยสารสาธารณะ และไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศหรือรถโดยสารไม่ปรับอากาศ จะต้องมีหน้าต่าง โดยหน้าต่างรถโดยสารมิได้มีไว้เพียงเพื่อให้แสงสว่างจากภายนอกรถเข้าไปภายในรถได้เท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นสรรพสิ่งที่อยู่นอกรถเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่อยู่ในรถและระแวดระวังภยันตรายที่อาจจะมีจากภายนอกรถอีกด้วย รถโดยสารที่ไม่มีหน้าต่างจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นรถโดยสาร แต่เป็นรถขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ และต้องถือว่าผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีหน้าต่างปฏิบัติต่อผู้โดยสารเยี่ยงวัตถุ ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้โดยสาร
ดังนั้น การรถไฟฯ จึงมีหน้าที่จัดให้ตู้รถโดยสารของขบวนรถไฟทุกขบวนมีหน้าต่างและดูแลรักษาหน้าต่างตู้รถโดยสารทุกคันให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้สมวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่าง การที่การรถไฟฯ ทำสัญญาเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาภายนอกรถโดยสารโดยยินยอมให้ติดตั้งป้ายโฆษณาที่กระจกหน้าต่างรถโดยสารได้ด้วย จึงเป็นการใช้หน้าต่างรถโดยสารแสวงหารายได้จนทำให้ผู้โดยสารไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าต่างรถโดยสารตามวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีหน้าต่างได้ตามที่ควรจะเป็น ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดทำกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร
คำพิพากษาให้ การรถไฟฯ ขูดลอกแผ่นป้ายโฆษณาออกจากบริเวณกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารและทำความสะอาดกระจกหน้าต่างตู้รถโดยสารรถไฟทุกคันให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา*** (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.231/2550)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น