วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ความหมายของคำในกฎหมาย


ความหมายของคำในกฎหมาย
๑. คำว่า ประมาท ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ วรรคสี่ บัญญัติว่า กระทำโดยประมาท ได้แก่ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ สรุปสั้นๆ ได้ว่า ประมาทคือการกระทำ (รวมถึงการงดเว้นการกระทำ) ที่ไม่ใช้ความระมัดระวัง ทั้งๆ ที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้
สำหรับคำว่า ภาวะ หมายถึง เหตุการณ์หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ขับรถ ภาวะที่เกิดขึ้นคือการขับรถ การเติมน้ำมัน ภาวะที่เกิดขึ้นคือการเติมน้ำมัน เป็นต้น
คำว่า วิสัย หมายถึง สภาพภายในของตัวผู้กระทำ เช่น เมาค้าง ไม่สบาย สำหรับบุคคลธรรมดาตามวิสัยย่อมใช้ความระมัดระวังน้อยกว่าผู้มีวิชาชีพ เช่น นักศึกษาแพทย์ย่อมระมัดระวังน้อยกว่านายแพทย์ ผู้ฝึกหัดขับรถย่อมระมัดระวังน้อยกว่าครูสอนขับรถ เป็นต้น ส่วนคำว่า พฤติการณ์ หมายถึงเหตุการณ์ภายนอกตัวผู้กระทำที่ต้องนำมาประกอบกับภาวะ เช่น ฝนกำลังตก หมอกลงจัด การจราจรคับคั่ง เป็นต้น
ดังนั้น บุคคลใดจะประมาทหรือไม่ มีหลักในการพิจารณาคือการสมมติคนอีกคนหนึ่งมาเปรียบเทียบโดยมีทุกอย่างเหมือนกับผู้ที่นำมาเปรียบเทียบ แล้วพิจารณาว่าหากคนที่สมมติอยู่ในภาวะเช่นนั้น มีวิสัยเช่นเดียวกันและอยู่ในพฤติการณ์อย่างเดียวกับผู้กระทำ เขาจะสามารถใช้ความระมัดระวังได้หรือไม่ หากใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ใช้ การกระทำนั้นย่อมเป็นประมาท

๒. คำว่า อันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ วรรคสอง บัญญัติว่า
อันตรายสาหัสคือ

(๑) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(๒) เสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถในการสืบพันธุ์
(๓) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
(๔) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(๕) แท้งลูก
(๖) จิตพิการอย่างติดตัว
(๗)ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(๘) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน
คำว่า ตาบอด นั้น ต้องตาบอดจริงๆ ไม่ใช่แค่พร่ามัว แม้จะบอดข้างเดียวก็เป็นสาหัส หูหนวกก็เช่นกัน ส่วนลิ้นขาดนั้นเห็นว่าต้องพิจารณาตามความรู้สึกของคนทั่วไป การที่ลิ้นฉีกไม่น่าจะอยู่ในความหมายของคำว่าลิ้นขาด และคำว่าเสียฆานประสาทหมายถึงเสียความสามารถในการดมกลิ่น
เสียอวัยวะสืบพันธุ์หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ เช่น ถูกทำร้ายจนเป็นหมัน หรืออวัยวะสืบพันธุ์ขาดหายไป เป็นต้น
เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด มิใช่เฉพาะเสียไป หากแต่รวมถึงอวัยวะดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ด้วย และแม้จะเป็นแค่นิ้วก้อยก็เป็นอันตรายสาหัสแล้ว ส่วนคำว่าอวัยวะอื่นใดนั้นหมายถึงอวัยวะส่วนสำคัญเช่นเดียวกับ แขน ขา มือ เท้า นิ้ว ด้วย
หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว หมายถึง ทำให้หน้าเสียความงามแต่ไม่ต้องถึงกับทำให้หน้าเปลี่ยนรูปหรือผิดรูป แม้แต่ใบหูขาดมองเห็นชัดเจนก็ถือเป็นอันตรายสาหัสได้ แต่ถ้าถูกโกนผมไปไม่เป็นอันตรายสาหัส เพราะผมงอกขึ้นใหม่ได้
แท้งลูก คือ ทำให้เด็กที่อยู่ในท้องคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต หรือที่เรียกว่าตายในครรภ์มารดานั่นเอง
จิตพิการอย่างติดตัว หมายถึง จิตใจได้รับอันตรายจนอยู่ในสภาพไม่ปกติ ป้ำๆ เป๋อๆ เด๋อๆ ด๋าๆ โดยมีลักษณะติดตัว
ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต คำว่า ทุพพลภาพคือการขาดความสามารถในการประกอบการงานไปจากปกติ ส่วนคำว่าเรื้อรังคือไม่อาจรักษาให้ฟื้นคืนดีได้
ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน หมายถึงต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือมีอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน หรืออีกอย่างหนึ่งคือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน

๓. อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีคำอธิบายไว้ แต่เมื่อศึกษาแนวทางที่ศาลฎีกาได้ตัดสินไว้ พอสรุปได้ดังนี้
ถ้าแผลถลอกไม่ถึงขนาดเนื้อแท้ฉีกขาด ไม่เป็นอันตรายแก่กาย แต่ถ้าแผลมีโลหิตไหลถึงหนังชั้นในหรือเนื้อขาดที่เรียกว่าแตก เป็นอันตรายแก่กาย หรือฟันหัก ๑ ซี่ ฟันโยก ๓ ซี่ เป็นอันตรายแก่กาย แต่ถ้าฟันหักหมดปากหรือฟันหักจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้อาจเป็นอันตรายสาหัส ส่วนแผลฟกช้ำดำเขียวต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ส่วนอันตรายแก่จิตใจนั้น ไม่ใช่เป็นการกระทบต่ออารมณ์ เช่นทำให้เสียใจ หงุดหงิด อันตรายแก่จิตใจตามแนวคำพิพากษา เช่น สติฟั่นเฟือน จิตหวาดผวา วิงเวียนคลื่นไส้เพราะถูกเอาใบไม้มีพิษมาให้รับประทาน ถูกทำผีหลอกสลบไปหลายวัน หรือใช้ยากดประสาทอย่างแรงผสมในกาแฟ เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ในกฎหมายแล้ว นายนิติกรจะขอยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงแนวทางการวินิจฉัยของศาลสัก ๑ ตัวอย่าง


คำพิพากษาศาลฎีกา
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นายมะเดี่ยวได้พาแฟนสาวนั่งรถที่เพิ่งถอยออกมาใหม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด ขณะที่นายมะเดี่ยวขับรถโฉบเฉี่ยวด้วยความเร็วสูงมานั้น ปรากฏว่ารถบรรทุกห้องเย็นซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้ารถที่นายมะเดี่ยวขับมาได้ถูกรถของนายมะขาม (ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าเช่นกัน) ชนท้ายอย่างแรง นายมะเดี่ยวจึงได้เบรกรถอย่างกะทันหันแต่ไม่วาย รถของนายมะเดี่ยวก็ยังไปชนท้ายรถนายมะขามจนได้ เป็นเหตุให้แฟนสาวของนายมะเดี่ยวบาดเจ็บ ส่วนรถของนายมะขามมีคนตาย ๒ ศพ คดีอาญาอย่างนี้ยอมความไม่ได้ เรื่องจึงมาถึงศาล ศาลฎีกาท่านพิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ววินิจฉัยว่า
เมื่อเปรียบเทียบร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ทั้งสามคัน แสดงให้เห็นว่ารถของนายมะขามชนท้ายรถบรรทุกห้องเย็นอย่างแรงแล้วจึงถูกรถของนายมะเดี่ยวชนท้ายแต่ไม่รุนแรงนัก ดังนั้น ความตายที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในรถนายมะขามมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของนายมะเดี่ยว นายมะเดี่ยวจึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย คงมีแต่ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้แฟนสาวที่นั่งมาด้วยได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๘/๒๕๓๘) คำพิพากษานี้เป็นการยืนยันหลักที่ว่าบุคคลไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าผลอันเกิดจากการกระทำของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น